โครงการวิจัยเพื่อสร้าง
แบบประเมินสติสำหรับเด็ก

ความเป็นมา

การพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างสมดุลรอบด้าน ทั้งการพัฒนาทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติ เป็นสิ่งที่ครู ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็ก รวมไปถึงพ่อแม่ ผู้ปกครอง ได้พยายามที่จะส่งเสริม กระตุ้นพัฒนาเด็กอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในมิติของการพัฒนาทางด้านจิตใจและจิตวิญญาณ เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีคุณธรรม จริยธรรม เติบใหญ่เป็นคนดี ด้วยการอบรมสั่งสอน ประพฤติเป็นแบบอย่าง หรือแม้แต่การจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมต่างๆ แต่ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา แม้ว่าเราจะมีโครงการกิจกรรมต่างๆ ในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม ก็ยังเห็นได้ว่าตัวเลขเด็กกระทำความผิดยังมีจำนวนมากขึ้น และช่วงวัยก็ยิ่งลดอายุน้อยลง และเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมีมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากข้อมูลสถิติคดีเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจ ในปี พ.ศ. 2556 และ 2561 แสดงให้เห็นแนวโน้มว่า เด็กที่กระทำผิดมีอายุน้อยลง (ช่วงอายุ 10 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี จากร้อยละ 12.43 เพิ่มเป็น ร้อยละ 13.33 และช่วงอายุ 15 ปี -18 ปี จากร้อยละ 87.51 ลดลงเป็นร้อยละ 86.67) ซึ่งส่วนใหญ่กำลังเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น แต่ก็ให้เห็นแนวโน้มว่าเด็กที่ทำผิดที่อยู่ในระดับชั้นประถมศึกษามีมากขึ้น (ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จาก ร้อยละ 55.39 เป็นร้อยละ 57.94 และระดับชั้นประถมศึกษา จาก ร้อยละ 16.68 เป็นร้อยละ 17.55) และคดีที่ทำกระทำผิดส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติดมีมากขึ้น รองลงมาเป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินลดลง (คดียาเสพติด จากร้อยละ 44.61 เป็นร้อยละ 50.21 และคดีเกี่ยวกับทรัพย์สิน ร้อยละ 18.29 เป็น 16.73)

ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเด็กที่ทำผิดมีอายุน้อยลง และเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งเกี่ยวข้องกับการยับยั้งชั่งใจของเด็กที่มีน้อยลง การควบคุมอารมณ์ จิตใจ ที่มีไม่มากพอ จนให้กระทำผิดในที่สุด สิ่งที่จะควบคุมการกระทำได้ คือผู้นั้นจะต้องการรู้ตัว ทันในความคิด ความรู้สึกและอารมณ์ของตนเอง สามารถที่จะควบคุมจิตใจที่จะแสดงออกทางพฤติกรรมได้ นั่นก็คือ การมี “สติ” หรือที่เรียกว่า Mindfulness หรือ Sati ซึ่งจะช่วยให้ไม่พลั้งเผลอ ไม่ประมาท หรือหลงลืม สามารถยับยั้งชั่งใจตัวเองได้ทั้งทางกาย วาจา และใจ (ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศาสติ์, 2557) ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องฝึกฝนและปฏิบัติมาตั้งแต่ยังเล็กๆ ตั้งแต่ในครอบครัว และ ในโรงเรียน สำหรับ “โรงเรียน” ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่สำคัญในการพัฒนาเด็ก มีการจัดกระบวนการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาและส่งเสริมการมีสติของเด็กและเยาวชนทั้งในรายวิชาพระพุทธศาสนา หรือการปลูกฝังคุณธรรม และจริยธรรม หรือแม้แต่สอดแทรกไปในกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมการฝึกสติและสมาธิ เช่น การวาดรูประบายสี การเล่มเกมต่างๆ การฝึกลมหายใจเข้าออก การออกกำลังกาย การนั่งสมาธิ การเดินจงกรม เป็นต้น แต่ในด้านของการประเมินระดับสติยังไม่มีความชัดเจน ที่มีลักษณะการประเมินสติเพื่อจะส่งได้ส่งเสริมและพัฒนา “สติ” ได้ดียิ่งขึ้น

การประเมินระดับของการมีสติในเด็กและวัยรุ่นจะมีส่วนสำคัญในการที่จะช่วยบ่งบอกได้ว่าเด็กมีระดับของการมีสติมากน้อยเพียงใด รวมทั้งเมื่อจัดกิจกรรมการฝึกสติไปแล้วเกิดประสิทธิภาพประสิทธิผล และเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กอย่างไร ซึ่งจะช่วยในการวางแผนการพัฒนาเด็กได้ต่อไปในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น ในต่างประเทศที่มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวข้องกับการประเมินสติจะมีการนำแบบวัดต่างๆ มาใช้ในเด็กและวัยรุ่น และเป็นแบบรายงานการประเมินตนเอง

แบบประเมินสติที่พบทั้งในไทยและต่างประเทศ จะเป็นแบบประเมินสติสำหรับเด็กวัยตั้งแต่วัยรุ่นถึงผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นแบบประเมินสติด้วยตนเอง (self assessment) ในขณะที่แบบประเมินสติสำหรับเด็กต่ำกว่า 6 ปี ลงมา ยังไม่มีปรากฏชัดเจน มีเพียงแบบสังเกตเด็กเพื่อวัดการมีสติ (Child Observation of Mindfulness Measure (C-OMM) ที่วัดในเด็กอายุ 3-4 ปี (Matthew E. Lemberger-Truelove and others, 2019) การสร้างและพัฒนาแบบประเมินสติสำหรับเด็กที่ผู้วิจัยกำลังจะสร้างและพัฒนาขึ้น จีงเป็นเครื่องมือการคัดกรองและประเมินที่สำคัญที่จะช่วยให้ส่งเสริมและพัฒนาการมีสติสำหรับเด็กได้ดียิ่งขึ้น

จากความสำคัญดังกล่าว จึงทำให้คณะวิจัยสนใจที่จะศึกษาเพื่อสร้างและพัฒนาแบบประเมินสติในเด็กที่มีประสิทธิภาพสำหรับครู และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนาเด็ก ที่สามารถนำไปใช้ได้ในการประเมินระดับการมีสติสำหรับเป็นฐานในการเฝ้าระวัง ส่งเสริมให้เด็กมีสติระลึกรู้ ซึ่งครูจะได้ส่งเสริมพัฒนาสติของเด็กได้ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข สามารถกำกับตนเองในการเรียนรู้ และพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560 - 2564 มีจุดเน้นการพัฒนาคนที่สำคัญเกี่ยวกับเด็กปฐมวัย คือ การพัฒนากลุ่มเด็กปฐมวัยให้มีสุขภาพกายและใจที่ดี มีทักษะทางสมอง ทักษะการเรียนรู้ ทักษะชีวิตและทักษะทางสังคม เพื่อให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ดังนั้น การพัฒนาและส่งเสริมการมีสติ ด้วยการพัฒนาแบบประเมินการมีสติสำหรับเด็ก จะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการช่วยประเมิน ค้นหา แก้ไข ช่วยเหลือ ส่งเสริมเด็กให้มีระดับสติที่ดีขึ้น อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาตนเอง พัฒนาสติ พัฒนาทักษะทางสังคมให้ดียิ่งขึ้น